กรมลดโลกร้อน เผยข้อมูลการวิเคราะห์คาดการณ์น้ำท่วมช่วง 10 ปีข้างหน้า (ปัจจุบัน - พ.ศ 2578) พบ 10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรง อยู่ในภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน แนะมาตรการรับมือน้ำท่วมทั้งระยะสั้น-ระยะยาว
.
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (กรมลดโลกร้อน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการวิเคราะห์จากแบบจำลองภูมิอากาศใน 2 กรณี คือ กรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง และกรณีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง
.
พบว่า 10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า ทั้ง 2 กรณี ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันตก ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
.
10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง ได้แก่ 1. ตาก 2. หนองคาย 3. บีงกาฬ 4. น่าน 5. แม่ฮ่องสอน 6. พะเยา 7. แพร่ 8. ตราด 9. เชียงใหม่ 10. นครพนม
.
10 จังหวัดที่คาดว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงในช่วง 10 ปีข้างหน้า กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง ได้แก่
1. ตาก 2. เพชรบุรี 3. มุกดาหาร 4. นครพนม 5. อุทัยธานี 6. ประจวบคีรีขันธ์ 7. ตราด 8. ราชบุรี 9. เชียงใหม่ 10. กาญจนบุรี
.
กรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับปานกลาง หมายถึง สถานการณ์สมมติที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2100 ใกล้เคียงกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 2.7 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2081-2100
.
ส่วนกรณีมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง หมายถึง สถานการณ์สมมติที่โลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปี 2100 เพิ่มขึ้นสองเท่าเมื่อเทียบกับปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ณ ปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 4.4 องศาเซลเซียส ในช่วงปี 2081-2100
.
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าประชาคมโลกยังห่างไกลเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกตามที่ต้องการ เมื่อผลกระทบมันรุนแรงขึ้น สิ่งที่รัฐบาลมองถึงการแก้ไขปัญหาการลดก๊าซเรือนกระจกนั้นทำได้ 2 แนวทางคือ การลดจากแหล่งปล่อยโดยตรงและการเพิ่มการดูดกลับให้มากขึ้น ผ่าน 2 กลไก คือ การพัฒนาใช้เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และการเพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อให้ความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในอากาศไม่ส่งผลกระทบสิ่งมีชีวิต รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
.
“เลิกกล่าวโทษธรรมชาติ เข้าใจ ยอมรับ ปรับตัว แล้วลงมือทำ ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวดูดซับคาร์บอน พร้อมกับชักชวนเพื่อนรอบข้างมาช่วยกันลดภาวะโลกเดือดไปด้วยกัน”
.
จากรายงานของ IPCC หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปี ค.ศ. 2023 ชี้ว่า ภายในปี ค.ศ.2030 - 2035 มีแนวโน้มที่ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกจะสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียส (เทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม) และหากประเมินจากนโยบายสภาพภูมิอากาศของแต่ละประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2100 อาจจะทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 3.2 องศาเซลเซียส
.
สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ทวีส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสภาพอากาศสุดขั้วในหลายภูมิภาคทั่วโลก เกิดความเสียหายในวงกว้าง ทั้งระบบนิเวศ ปัญหาน้ำท่วมหลากทั้งตามชายฝั่งและจากภูเขา การขาดแคลนน้ำจืด การสูญเสียแหล่งอาหารที่สำคัญของคนทั้งโลก เวลานี้และในอนาคตอันใกล้ผู้คนนับล้านจะขาดแคลนอาหาร และแหล่งที่อยู่อาศัย
.
ส่วนการรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสนั้นจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 43% ภายในปี 2030 (เทียบกับระดับในปี 2019) และอย่างน้อย 60% ภายในปี 2035
.
ไทยติด10 อันดับแรกกลุ่มเสี่ยงภัยน้ำท่วมสูงที่สุด
จากรายงานของกลุ่มธนาคารโลกที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เคยระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุทกภัยในไทยเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และพบว่าประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดในโลก โดยแต่ละปีน้ำท่วมสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับประเทศเฉลี่ยปีละ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 98,800 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นเกือบ 100% ของมูลค่าความสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติในประเทศ
.
การศึกษาดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าอุบัติการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้ฝนตกหนักบ่อยครั้งมากขึ้น ก่อให้เกิดน้ำล้นตลิ่งผิดปกติเข้าท่วมบ้านเรือนในเขตเมือง และเกิดดินถล่มและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ภูเขา
.
ในปีนี้ (พ.ศ.2567) ดูเหมือนความถี่ของเหตุการณ์ฝนตกหนัก (มากกว่า 100 มิลลิเมตรใน 1 วัน)ได้บอกเราถึงแนวโน้มที่จะเป็นเรื่องปกติมากขึ้น นั่นคือผลกระทบมาจากภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงด้วย ตามรายงานอ้างข้อมูลจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ได้คาดการณ์ว่าจะมีพายุไต้ฝุ่นเพิ่มขึ้นในประเทศไทยระหว่างปี 2013-2043 ขณะที่พายุมรสุมจะค่อนข้างคงที่ในช่วงเวลาเดียวกัน
.
สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ German watch องค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงผลกำไรของประเทศเยอรมนี ที่ประเมินและจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2559 (The Long-Term Climate Risk Index (CRI): World Map of the Global Climate Risk Index ค.ศ. 1997 – 2016
.
เมื่อปี 2561 ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดในโลกที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว ทั้งจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นในฤดูน้ำหลากและน้อยลงในฤดูแล้ง ซึ่งส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติ อาทิ อุทกภัย ภัยแล้ง และวาตภัย ที่รุนแรงและบ่อยครั้งขั้น ผลกระทบส่งผลเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น การเกษตร การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาเมือง การย้ายถิ่นฐานของประชากร การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการแพร่กระจายของโรค
.
กรมลดโลกร้อน ชูมาตรการรับมือน้ำท่วมรุนแรง
กรมลดโลกร้อน แนะนำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลการคาดการณ์แนวโน้มการเกิดน้ำท่วมในช่วง 10 ปีข้างหน้า ไปใช้ประกอบการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว การจัดลำดับความสำคัญของพื้นที่เพื่อดำเนินมาตรการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในส่วนที่เกี่ยวข้อง
.
10 มาตรการรับมือน้ำท่วม (ระยะสั้น)
1. คาดการณ์ ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง
2. ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ
3. เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยงและศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง
4. ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ
5. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ
6. ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย และฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
7. เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน
8. สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
9. สร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำ และประชาสัมพันธ์
10. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
.
4 มาตรการรับมือน้ำท่วม (ระยะยาว)
1. อนุรักษ์ป่าต้นน้ำและการป้องกันการพังทลายของดิน
2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น แหล่งชะลอน้ำ พื้นที่แก้มลิง เป็นต้น โดยใช้แนวคิดการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution : NbS)
3. จัดทำผังน้ำและผังการระบายน้ำ ในระดับลุ่มน้ำ
4. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในเขตชุมชนเมืองและพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ
.
ที่มา : mgronline https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000094754